เตือนภัยออนไลน์

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เตือนภัยออนไลน์ ต้องเช็กก่อนเชื่อเพจเฟซบุ๊กปลอมเกลื่อน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ), พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. / ผอ.ศปอส.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. / รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์อีกทั้งในช่วงนี้คนร้ายยังสร้างเพจเฟซบุ๊กตำรวจปลอมขึ้นมาแอบอ้างรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ หรือเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินเหยื่อซ้ำเติม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนถึงข้อสังเกตการแยกแยะเพจเฟซบุ๊กปลอมของตำรวจปลอม และพฤติการณ์ของเพจเฟซบุ๊กปลอมของตำรวจ ดังนี้

• คนร้ายปลอมเพจเฟซบุ๊กตำรวจแอบอ้างรับแจ้งความ

• คนร้ายสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมาโดยตั้งชื่อเพจเป็นหน่วยงานตำรวจหรือศูนย์ช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี

• โฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มโอกาสให้เหยื่อมองเห็นเพจมากขึ้น โดยนำคลิปวิดีโอและเนื้อหาจากเพจตำรวจจริงมาใส่ในโฆษณาเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

• เมื่อเหยื่อซึ่งมีประสงค์ที่จะแจ้งความดำเนินคดีกับคนร้ายพบเห็นเพจหรือโฆษณาดังกล่าวเข้า เหยื่อได้ติดต่อเพจปลอมของคนร้ายไปเพื่อจะแจ้งความ คนร้ายจะให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว ส่งหลักฐาน

• แอบอ้างว่าจะนำเงินที่เหยื่อถูกโกงไปมาคืนเหยื่อ แต่ต้องโอนเงินเป็นค่าดำเนินการ/ค่าล่อซื้อ/ค่าทนาย ฯลฯ ให้แก่คนร้ายที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

• สุดท้ายเหยื่อไม่ได้เงินที่ถูกหลอกไปคืน แถมยังเสียเงินเพิ่มจากการถูกเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกซ้ำอีก

จุดสังเกต

1. ชื่อเพจมักเป็นชื่อหน่วยงานที่ไม่มีอยู่จริง หรือชื่อผิด

2. เพจปลอมไม่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตนท้ายชื่อเพจ

3. เพจเหล่านี้มักสร้างมาไม่นาน หรืออาจเป็นเพจที่มีการซื้อต่อมาและเปลี่ยนชื่อในภายหลัง

4. คนร้ายพยายามปลอมยอดผู้ติดตามโดยพิมพ์เลขยอดคนกดถูกใจ/ติดตาม ไว้ที่รายละเอียดของเพจ

5. เพจแท้มีเครื่องหมาย blue tick หรือเครื่องหมายถูกสีฟ้าจะอยู่หลังชื่อเพจ แต่เพจคนร้ายจะนำ blue tick มาใส่ไว้ที่หน้าภาพหน่วยงาน

วิธีป้องกัน

1. เพจจริงของทางตำรวจมีเครื่องหมายยืนยันตัวตนท้ายชื่อเพจและมีข้อมูลความโปร่งใสเพจครบถ้วน

2. เพจของทางตำรวจไม่มีการรับเรื่องร้องทุกข์/แจ้งความ/ส่งหลักฐานในการดำเนินคดีผ่านทางเพจ

3. แจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.go.th เท่านั้น

4. หากมีข้อสงสัย/สอบถาม โทรปรึกษาศูนย์ AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับช่องทางรับรู้ข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.go.th

#เตือนภัยออนไลน์

#สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

#Royalthaipolice